ATS Resume คืออะไรแล้วทำไมถึงสำคัญ?

ATS resume

ใครเป็นบ้าง ส่งเรซูเม่ไปหลายบริษัทแต่ถูกเรียกสัมภาษณ์นิดเดียว? เหตุผลเพราะว่าเรซูเม่ที่เราใช้ส่งนั้นไม่ผ่านระบบ ATS หรือ Applicant Tracking System ในบทความนี้เราจะอธิบายว่าระบบ ATS คืออะไรทำไมถึงมีผลต่อการสมัครงานของเรา

ATS คืออะไร

ATS หรือ Applicant Tracking System คือระบบคัดกรองเรซูเม่ของผู้สมัคร โดยที่บริษัทจะมีการกำหนดเกณฑ์การเลือกพนักงานเข้ามาแล้วใส่เข้าไปในระบบ ATS ซึ่งเรซูเม่ที่ผ่านเกณฑ์นั้นหมายความว่ามีเกณฑ์ที่ตรงกับที่ทางบริษัทต้องการและจะมีโอกาสที่ทางบริษัทจะต่อกลับเพื่อขอนัดสัมภาษณ์

แต่ก็มีผู้สมัครอีกหลายคนที่ตรงเกณฑ์ที่บริษัทต้องการแต่เรซูเม่ไม่ผ่านระบบ ATS ทำให้พลาดโอกาสที่จะสัมภาษณ์งาน นี่จึงเป็นเหตุผลว่าทำไมเราส่งเรซูเม่ไปหลายบริษัทแต่กลับมีบริษัทติดต่อกลับเพื่อขอสัมภาษณ์น้อย ในบทความนี้เราจะมาดูกันว่าเราจะทำเรซูเม่ยังไงให้ผ่านระบบ ATS

เทคนิคเตรียม ATS Resume

การทำ ATS Resume คือการทำเรซูเม่เพื่อให้ผ่านเกณฑ์ของระบบ ATS ซึ่งสิ่งที่ระบบ ATS ให้ความสำคัญนั้นมี 3 อย่างหลักๆคือ

  • การจัดเรียงรูปแบบและเค้าโครง (Formatting and layout)
  • คีย์เวิร์ดสำคัญ (Keyword)
  • ประเภทของไฟล์ (File type)

การจัดเรียงรูปแบบและโครงสร้างของเรซูเม่ (Formatting and layout )

การจัดเรียงรูปแบบและโครงสร้างของเรซูเม่เป็นสิ่งที่สำคัญ ผู้สมัครควรจัดวางรูปแบบของเรซูเม่ให้อ่านง่าย เช่น อ่านจากข้างบนลงข้างล่าง เรียงจากหัวข้อที่สำคัญมากที่สุดไปสำคัญน้อยที่สุด และทำการแบ่งหมวดหมู่ต่างๆอย่างชัดเจน เช่น ประวัติส่วนตัว ประวัติการทำงาน ประวัติการศึกษา ทักษะ เป็นต้น

สิ่งที่ควรทำ

  • ใช้รูปแบบที่อ่านง่าย
  • แบ่งหมวดหมู่ให้ชัดเจน
  • ถ้ามีหัวข้อย่อย ให้ใช้สัญลักษณ์แสดงหัวข้อย่อย (Bullet point) เข้ามาช่วย

สิ่งที่ไม่ควรทำ

  • ใช้รูปแบบและโครงสร้างที่ซับซ้อน เช่น การแบ่งหน้ากระดาษออกเป็นหลายๆส่วน

  • ไม่ควรใส่รูปภาพ กราฟฟิก และตารางเข้าไปในเรซูเม่ เช่น กราฟที่ใช้บอกความสามารถในทักษะด้านต่างๆ

    • หากต้องการโชว์ผลงานที่เป็นกราฟฟิกหรือรูปภาพ ควรรวบรวมผลงานให้อยู่ในลิงค์ออนไลน์ที่สามารถเข้าไปดูได้และใช้ลิงค์นั้นใส่เข้าไปในเรซูเม่

คีย์เวิร์ดสำคัญ (Keyword)

ระบบ ATS เป็นระบบที่ใช้การตรวจจับคีย์เวิร์ดเป็นเกณฑ์ในการคัดเลือกเรซูเม่ ดังนั้นในเรซูเม่ของคุณควรใช้คีย์เวิร์ดที่เกี่ยวข้องกับตำแหน่งงานที่เราสมัครไปหรือเป็นคำเฉพาะของสายงานนั้นให้ได้มากที่สุด รวมทั้งชื่อเครื่องมือที่ใช้ในการทำงานในตำแหน่งนั้นๆ เช่น เราสมัครในตำแหน่ง Ad optimization คีย์เวิร์ดที่เราต้องมีคือ เครื่องมือที่ใช้ในการซื้อสื่อ เครื่องมือที่ใช้วิเคราห์ข้อมูล เครื่องมือวิเคราะห์คู่แข่ง เป็นต้น

TIP1: เข้าไปอ่านในรายละเอียดการรับสมัครงาน (Job description) และหยิบเอาคีย์เวิร์ดสำคัญๆมาปรับใช้ในเรซูเม่ของเรา

TIP2: ควรทำ Resume ใหม่ทุกครั้งถ้ารายละเอียดของงานเปลี่ยน เพราะคีย์เวิร์ที่ใช้ก็จะเปลี่ยนไปตามรายละเอียดของงาน ถ้าใชเรซูเม่เดียวกันมีโอกาสสูงที่จะไม่ผ่านระบบ ATS

ประเภทของไฟล์ (File type)

ขั้นตอนการส่งไฟล์เป็นอีกขั้นตอนที่สำคัญ เราต้องอ่านอย่างละเอียดก่อนที่เราจะส่งไฟล์เรซูเม่เพื่อสมัครงาน เพราะบางบริษัทจะมีการกำหนดไฟล์ที่รับอย่างชัดเจน แต่ถ้าหากไม่กำหนดให้ส่งเป็นไฟล์ PDF

*หลังจากที่เราบันทึกไฟล์เป็น PDF แล้วให้ตรวจเช็คตัวไฟล์ให้เรียบร้อยว่าเป็นแบบข้อความและไม่ใช่แบบรูปภาพ เพราะระบบ ATS อาจไม่สามารถอ่านไฟล์แบบรูปภาพได้

สรุป

ในปัจจุบันอาจจะมีทั้งบริษัทที่ใช้ระบบ ATS และไม่ใช้ระบบ ATS เพื่อคัดเลือกเรซูเม่ของผู้สมัคร สิ่งที่สำคัญที่สุดในการทำเรซูเม่คือเนื้อหาที่สอดคล้องกับตำแหน่งที่เราสมัคร ทั้งนี้ผู้สมัครควรอ่านรายละเอียดงานอย่างละเอียดและใช้คีย์เวิร์ดที่เกี่ยวกับงานนั้นๆมาปรับใช้ในเรซูเม่ และไม่ควรใช้เรซูเม่เดียวในการสมัครงานในตำแหน่งงานที่แตกต่างกัน

Whether you're a job seeker or business looking to fill a position, our community is the perfect place to find and hire top talent.